หูดหงอนไก่ (Genital warts)

หูดหงอนไก่ (Genital warts) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดที่ทำให้เกิดหูด หรือติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ หรือทวารหนัก ทำให้รู้สึกคัน

หูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่ (Genital warts) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดที่ทำให้เกิดหูด หรือติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบ หรือทวารหนัก ทำให้รู้สึกคัน แสบร้อน หรือมีตกขาว หูดหงอนไก่เป็นโรคที่เจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น ทำให้เกิดรอยโรค (lesion) หรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้แต่เชื้อ HPV จะคงอยู่ในร่างกายตลอดไป หูดหงอนไก่สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV (HPV vaccine)

หูดหงอนไก่ มีสาเหตุจากอะไร?

หูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus: HPV) ที่มีจำนวนกว่า 40 สายพันธุ์ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังหรือเยื่อบุผนังภายในของผู้ที่เป็นโรคนี้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดแบบธรรมชาติ การติดเชื้อทำให้เนื้อเยื่อเสียหายและเกิดรอยโรคซึ่งเป็นลักษณะของความผิดปกติที่แสดงออกทางผิวหนัง โดยไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ 6 และสายพันธุ์ที่ 11 เป็นสายพันธุ์หลักที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ที่บริเวณผิวหนังและเยื่อบุผิวภายในร่างกาย โดยธรรมชาติ เชื้อ HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง เว้นแต่มีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงร่วมด้วย ที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งทวารหนักได้

หูดหงอนไก่ ติดต่อได้อย่างไร?

  • การติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะเพศชาย-ช่องคลอด อวัยวะเพศชาย-ทวารหนัก และทางช่องคลอด-ช่องคลอด
  • การสัมผัสกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่มีเชื้อ HPV เช่น ปาก มือ นิ้วมือ นิ้วเท้า
  • การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ลิปสติก ผ้าเช็ดตัว สบู่ มีดโกน หรือ อุปกรณ์ของเล่นสำหรับมีเพศสัมพันธ์ (Sex toy)
  • การทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) ให้กับผู้ที่มีเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 6 และ 11
  • การรับการทำออรัลเซ็กส์ จากผู้ที่มีเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ที่อวัยวะเพศ ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น
  • การสัมผัสแบบแนบชิด เนื้อแนบเนื้อ หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการหลั่ง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ (Brittle diabetes) หรือการทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • เป็นเริม หรือเคยเป็นเริมมาก่อน
  • การติดเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่สู่ลูกผ่านการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ


อาการของหูดหงอนไก่ เป็นอย่างไร?

ลักษณะของหูดหงอนไก่ คือ มีตุ่ม หรือติ่งเนื้อยื่นออกจากผิวหนังภายในร่างกาย หรือภายนอกร่างกายกระจายออกทางด้านบนคล้ายดอกกะหล่ำ หรือหงอนไก่ หูดหงอนไก่สามารถขยายจำนวนได้ดีในที่อับชื้น ที่ร้อนชื้น หรือในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ในบางราย หูดหงอนไก่อาจปรากฏเป็นเพียงรอยโรคขนาดเล็กที่แทบมองไม่เห็น หรืออาจไม่มีหูดหรือติ่งเนื้อขึ้นเลย ลักษณะเฉพาะของหูดหงอนไก่ มีดังนี้

  • ติ่งเนื้อผิวเรียบ หรือผิวขรุขระนูนยื่นออกจากผิวหนังเป็นหยัก ๆ หรือเป็นตะปุ่มตะป่ำ
  • ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน
  • ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อสีขาว สีเนื้อ สีชมพู หรือสีแดง
  • ตุ่มเนื้อ ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อตุ่มเดียว หรือหลาย ๆ ตุ่มขึ้นเป็นกระจุกรวมกัน
  • มีอาการคัน แสบร้อน รู้สึกไม่สบายตัวอย่างมากหรือเจ็บบริเวณที่เป็นหูดหงอนไก่
  • มีเลือดออกที่ติ่งเนื้อ หรือไหลออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์


บริเวณที่มักพบหูดหงอนไก่

  • เยื่อบุผิวหนังอวัยวะเพศชาย หรืออวัยวะเพศหญิง
  • ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต หนังหุ้มองคชาต หนังหุ้มอัณฑะ
  • ปาก ริมฝีปาก คอหอย
  • ปากมดลูก ภายในช่องคลอด
  • ท่อปัสสาวะ
  • รอบทวารหนัก ฝีเย็บ
  • ขาหนีบ
  • ลำไส้ตรง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
  • รอบปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด
  • แคมเล็ก หรือแคมใน (Labia minora)
  • แคมใหญ่ หรือแคมนอก (Labia minora)

การรักษาหูดหงอนไก่ มีวิธีการอย่างไร?

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหูดหงอนไก่ แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาหลายวิธีเพื่อให้ได้ผลดีในการรักษา เช่น วิธีการให้ยาทาภายนอก วิธีการผ่าตัด หรือวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้หูดหงอนไก่ขยายใหญ่ขึ้น หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้เป็นพาหนะนำโรคสู่ผู้อื่น ผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดี อาจหายจากอาการของโรคเองโดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสจะคงอยู่ในร่างกายตลอดไปโดยไม่แสดงอาการใด ๆ และมีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำ เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ วิธีการรักษาหูดหงอนไก่ มีวิธีการดังต่อไปนี้

  • การรักษาโดยการทายา (Topical medications) โดยแพทย์จะทำการนัดทายาที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้ง ทุกสัปดาห์ เป็นการทายาทั้งภายนอกและอวัยวะภายในที่เป็นหูด โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์โรคหูดหงอนไก่ ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและหลุดออกไป เช่น ยาอิมิควิโมด 5% (5% Imiquimod) ยาโพโดฟิลอก 5% (0.5% Podofilox) หรือ สารละลายกรดไตรคลอโรอะเซติกเข้มข้น 80-90 % (80-90 % Trichloroacetic acid) ทั้งนี้เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดี แพทย์จะขอให้ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทายา เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
  • การผ่าตัดชิ้นเนื้อออก (Surgical excision) แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะหูดหงอนไก่ที่มีขนาดใหญ่ หรือในผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หรือคุณแม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ที่กำลังจะคลอดบุตร แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • การจี้ร้อนด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) เป็นการรักษาด้วยการจี้หูดด้วยความร้อนสูง เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่เติบโตผิดปกติ
  • การจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen cryotherapy) เพื่อยับยั้งการเติบโตของหูด ช่วยให้ผิวฟื้นตัว และให้รอยโรคหลุดไป
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatments) โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการนี้กับหูดหงอนไก่ที่มีลักษณะขึ้นเป็นวงกว้างและรักษาได้ยาก

หูดหงอนไก่ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีนและสามารถรักษาให้หายได้ โดยเมื่อพบอาการแสดงของโรค ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ และรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผู้ที่เคยเป็นหูดหงอนไก่และรักษาจนหายดีแล้ว ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้ภูมิคุ้มกันคงที่ เพียงเท่านี้ก็จะมีสุขอนามัยที่ดี และลดโอกาสการเป็นโรคซ้ำได้